การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับสายสามัญ มีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ๆ คือ
1.การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี หลังจากจบแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรี อีก 2 ปี
2.การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี แล้วแต่คณะวิชาที่เลือก
จุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนเลือกเรียนต่อสายอาชีพนั้น เพราะจะได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก ได้พุ่งเป้าไปที่การเรียนในด้านนั้นๆอย่างเต็มที่ ต่อให้เรียนจบระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ และทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต
ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน
นอกจากการเรียนทฤษฎีแล้ว หลักสูตรสายอาชีพยังเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทักษะวิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง นักเรียนจะได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้ กระบวนการในสายอาชีพนั้นๆ เป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน
มีทักษะวิชาชีพติดตัว
การได้มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียนสายอาชีพให้อะไรมากกว่าการเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียว เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวนักเรียนไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย
สามารถเลือกเรียนได้หลากหลาย
หลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งแต่ละสาขามีความน่าสนใจ จบแล้วมีตำแหน่งงานรองรับ นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง
ได้รับความนิยมจากตลาดแรงงาน
ตำแหน่งงานในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนแม้จะเรียนจบปริญญาตรงกับสายงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง การเรียนสายอาชีพจึงมีข้อได้เปรียบมากกว่า
โอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
วุฒิการศึกษาในการเรียนสายอาชีพไม่ใช่แค่ ปวช. ปวส. เท่านั้น เพราะหลายๆ สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันหันมารับนักเรียนสายอาชีพให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเปิดหลักสูตรพิเศษที่น่าสนใจ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสายอาชีพได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น
การเรียนอาชีวศึกษาแบบระบบปกติ
หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับ ปวช.นั้น ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยได้แบ่งประเภทวิชาออกเป็น 11 ประเภท ได้แก่
1.อุตสาหกรรม สาขาวิชา : ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม สำรวจ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างซ่อมบำรุง ช่างพิมพ์ เทคนิคแว่นตาและเลนส์ ช่างโทรคมนาคม ช่างเครื่องมือวัดและควบคุม อุตสาหกรรมยาง เมคคาทรอนิกส์ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฟอกหนัง ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เครื่องกลเกษตร
2.พาณิชยกรรม สาขาวิชา : การบัญชี การตลาด การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจค้าปลีก ภาษาต่างประเทศ โลจิสติกส์ การจัดการสำนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัย ธุรกิจการกีฬา
3.ศิลปกรรม สาขาวิชา : วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม ศิลปกรรมเซรามิก ศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ ถ่ายภาพและมัลติมีเดีย เทคโนโลยีศิลปกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง การพิมพ์สกรีน ออกแบบนิเทศศิลป์
4.คหกรรม สาขาวิชา : แฟชั่นและสิ่งทอ อาหารและโภชนาการ คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจคหกรรม
5.เกษตรกรรม สาขาวิชา : เกษตรศาสตร์
6.ประมง สาขาวิชา : เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
7.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาวิชา : การโรงแรม การท่องเที่ยว
8.อุตสาหกรรมสิ่งทอ สาขาวิชา : เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่ม
9.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชา : เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
10.อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชา : อุตสาหกรรมบันเทิง การดนตรี การสร้างเครื่องดนตรีไทย
11.พาณิชย์นาวี สาขาวิชา : เดินเรือ ช่างกลเรือ
การเรียนระบบทวิภาคี คือ การจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ในการจัดหลักสูตร จัดการเรียนการสอน จัดฝึกอาชีพ การวัดและการประเมินผลโดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนในสถานศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ การเรียนในระบบทวิภาคีนี้ไม่ใช่เพียงการฝึกงานในบริษัท แต่เป็นการฝึกทำงานในอาชีพเฉพาะทาง ตลอดทั้งหลักสูตรที่เรียนนักเรียนจะได้ทำงานในสิ่งแวดล้อมของการทำงานจริงใกล้ชิดกับหัวหน้างานมีพี่เลี้ยงในที่ทำงาน มีรุ่นพี่เป็นเพื่อนร่วมงาน รวมถึงต้องพบปะกับลูกค้าในสายงานของตัวเอง ต้องเผชิญกับสถานการณ์จริงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริง อาชีวศึกษามีระบบทวิภาคีทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ดังนั้นไม่ว่าจะจบม.3 ม.6 หรือ ปวช. สามารถเรียนทวิภาคีได้
– ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอื่นๆ ตามที่ตกลง
– มีโอกาสที่จะเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ได้ฝึกอาชีพ
– ได้รับใบรับรองจากสถานประกอบการ
– ได้รับประกาศนียบัตรปวช. และ ปวส. เช่นเดียวกับนักเรียนปกติ
– ได้โอกาสศึกษาต่อระดับสูงขึ้นต่อไป
– สามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ประยุกต์เข้ากับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการได้ทันทีไม่ต้องรอให้จบการศึกษา เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์การทำงาน
– มีทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ
อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมดิจิทัล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล Full Stack Developer (นักพัฒนาเว็บไซต์) Software developer ,data engineer ,data science ทักษะเกี่ยวกับ data การป้องกันข้อมูล การป้องกันการปลอดภัย
อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบิน ต้องการตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญการประมวลผลด้านโลจิสติกส์ และ Ground Services เพราะประเทศไทยมีการขยายพื้นที่เศรษฐกิจ การคมนาคมก็เลยเป็นส่วนสำคัญและทำให้ ต้องการคนที่ทำ e-Logistics และการบริหาร จัดการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับอุบัติเหตุ อุบัติภัย
อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์ สาธารณสุข ต้องการ Bio Process Engineering นักเคมี และนักชีววิทยา ที่มีทักษะ biology ชีวฟิสิกส์ และงานที่เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์
อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมการการท่องเที่ยว ซึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวในไทยเป็น Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เลยต้องการสายอาชีพ Digital platform developer และ Digital Marketing ที่มีทักษะ Design thinking และทำการตลาด Digital
อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ ปัจจุบันเริ่มใช้ดิจิทัลเข้ามาบริหารฟาร์ม ดูแลแปลงเกษตรมากขึ้น ทำให้ต้องการอาชีพ นักปรับปลุกพันธุ์พืช และนักออกแบบพันธุ์พืช ที่มีทักษะ Data science
อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมอาหาร เทรนด์อาหารแห่งอาหารอนาคตมาแรงมาก ทำให้ตลาดต้องการตัว นักโภชนาการศาสตร์ ที่คอยออกแบบสารอาหารให้เหมาะกับแต่ละคน และ Food Stylist ที่คอยออกแบบอาหารให้มีความเฉพาะเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบในการออกแบบอาหารให้ผ่าน อย.
อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศไทยกำลังผลักดันรถ EV เลยทำให้ตลาดต้องการตัว วิศวกรยานยนต์ และวิศวกรวัสดุ ที่ทักษะเกี่ยวกับ อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี่ไฮบริด
อันดับที่ 8 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ต้องการ Robotics engineer และSoftware Engineer ที่รู้จักเซนเซอร์เทคโนโลยี และทำโรบอทโปรแกรมมิ่งได้
อันดับที่ 9 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงานชีวภาพ ต้องการ นักชีววิทยา ที่มีทักษะ Bioinformatics และ Bio-Processing
อันดับที่ 10 อุตสาหกรรมเกี่ยวกับ Smart Electronics ตำแหน่งที่ต้องการตัวคือ Electronics engineer และ Programmer ที่มีความรู้เกี่ยวกับ AI และการใช้ซอฟต์แวร์
ที่มาของข้อมูล
มูลนิธิยุวพัฒน์ : https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/highschool/studyplan/item4-2/
https://campus.campus-star.com
salika : https://www.salika.co/2023/12/28/10-job-trends-12-s-curve/